Digital Marketing Clinic

Digital Marketing Clinic

Saturday, 23 April 2011

เปิดสอนการทำเวบไซต์ด้วย Joomla & Community Building (รุ่นว่างงานเลยอยากสอน)

เนื้อหาการฝึกอบรมแบบเข้มข้น ใช้งานได้จริง
  • การจำลอง Web Server บนเครื่องคอมพิวเตอร์ของคุณ
  • การตั้งค่า และ ติดตั้ง โปรแกรม Joola
  • การติดตั้ง Joomla Component, Module, Plugin & Template
  • การสร้าง Sections, Categories และ Articles
  • การสร้าง Menu
  • การสร้าง Catalog
  • การสร้าง Community Building, Social Networking
  • การปรับแต่ง โปรแกรม เพิ่มลูกเล่น ต่างๆ ในเวบไซต์ ให้น่าสนใจ และใช้งานได้ตามวัตถุประสงค์
  • Etension สำหรับธุรกิจต่างๆ
  • E-commerce และ การหารายได้จากเวบไซต์
  • ฯลฯ
รายละเอียดการฝึกอบรม
  • เปิดอบรม วันเสาร์-อาทิตย์ หรือวันที่มีการนัดหมายล่วงหน้า ไม่จำกัดจำนวนครั้ง และระยะเวลา (สำหรับ 10 ท่านแรกเท่านั้น)
  • เวลาในการอบรม มาอบรมได้ตามอัธยาศัย
  • สถานที่อบรม คอนโดของผู้อบรม ซอยลาดพร้าว 124 (ใกล้ๆ ซอยมหาดไทย)
  • การชำระเงิน แบ่งจ่ายได้ตามอัธยาศัย (นักศึกษาจบใหม่ที่ยังไม่มีงานทำ สอนให้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย พร้อมทั้งหางานพิเศษให้)
  • สามารถขอให้บริการ Support ได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง
  • สอนแบบรายบุคคล ไม่เป็นต้องเรียนต่อเนื่องเป็นกลุ่ม
หมายเหตุ
  • ผู้เข้ารับการอบรมต้องนำ Notebook มาเอง
  • ถ้าผู้เข้ารับการฝึกอบรมมาจากต่างจังหวัด มีที่พักให้สำหรับ 2-3 ท่าน

Thursday, 21 April 2011

รู้เรื่อง SEO โดยไม่ได้ตั้งใจ

ผู้เขียนเองนั้นมีประสบการณ์เกี่ยวกับการใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์ เน็ตมาเป็นระยะเวลายาวนาน ตั้งแต่ยุคเริ่มต้นของคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (PC) ยุคเริ่มต้นของอินเตอร์เน็ตในประเทศไทย และยุคที่คอมพิวเตอร์โน้ตบุคราคาเครื่องละกว่าแสนบาท
 
ปี ค.ศ.1988 เริ่มทำงานด้านโรงแรมที่โรงแรม Le Meridien Phuket (ช่วงเปิดโรงแรม) ในตำแหน่ง Front Office Clerck นับเป็นครั้งแรกที่ได้มีโอกาสทำงานโรงแรม และได้มีโอกาสใช้คอมพิวเตอร์ในการทำงาน และก่อให้เกิดแรงบันดาลใจในการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้งาน คอมพิวเตอร์
 
ปี ค.ศ. 1990 ศึกษาวิชาคอมพิวตอร์พื้นฐานที่สถาบันคอมพิวเตอร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เปิดสอนวิชาคอมพิวเตอร์แก่บุคคลภายนอกเป็นยุคต้นๆ
 
ปี ค.ศ. 1991 ศึกษาวิชาการเขียนโปรแกรมฐานข้อมูลเพื่อการใช้งานด้วยโปรแกรม dBase และ Clipper และได้พัฒนาโปรแกรมฐานข้อมูลสำหรับบริหารงานคลังสินค้า และบริหารงานบุคคล เงินเดือน และค่าจ้างมาใช้งานในองค์กร
 
ปี ค.ศ. 1992 ใช้โปรแกรม Fox Pro พัฒนาโปรแกรมบริหารจัดการร้านให้เช่าวิดีโอด้วยระบบบาร์โค๊ดอกจำหน่ายออก จำหน่ายภายใต้ชื่อ Sala Video เป็นอาชีพเสริม ซึ่งได้รับการตอบรับจากศูนย์วิดีโอให้เช่าต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดเป็นอย่างดี

ในส่วนที่เกี่ยว ข้องกับอินเทอร์เน็ตนั้น ผู้เขียนเริ่มต้นการใช้งานสืบค้นข้อมูลต่างๆ ผ่านห้องสมุดออนไลน์ในต่างประเทศตั้งแต่ยุคก่อนที่ www จะมาได้รับความนิยมและแพร่หลายดังเช่นในปัจจุบัน

ในสมัยนั้นการที่จะเข้าไปสืบค้นข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต ต้องใช้ Modem เชื่อมต่อเข้าไปยังศูนย์คอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ เพื่อที่เชื่อมต่อไปยังเครือข่ายในต่างประเทศ การใช้งานต้องใช้คำสั่งเฉพาะในการติดต่อกับคอมพิวเตอร์เครือข่าย ซึ่งไม่ง่ายเลยในการที่จะหาข้อมูลแต่ละอย่าง

ต่อมาเมื่อมีบริการอินเทอร์เน็ตสำหรับประชาชนทั่วไป การใช้อินเทอร์เน็ตก็ยังไม่ใช่เรื่องง่ายอยู่ดี เพราะผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในยุคต้นๆ นั้น ต้องใช้โมเด็มเชื่อมต่อสัญญาณมายังผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในกรุงเทพฯ ซึ่งขณะนั้นยังพักอาศัยอยู่ที่อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ค่าโทรศัพท์คิดเป็นนาที เพราะถือว่าเป็นการโทรทางไกล ในขณะที่ค่าบริการอินเทอร์เน็ตสมัยนั้นยังคิดค่าบริการเป็นรายชั่วโมง ลองจินตนาการดูนะครับว่า ค่าใช้จ่ายจะมโหฬารขนาดไหนในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต

แม้ ว่าจะมีค่าใช้จ่ายสูงในการใช้บริการอินเทอร์เน็ตในขณะนั้น แต่ผู้เขียนก็ได้เริ่มต้นศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับการจัดทำเวบไซต์ การเขียนโฮมเพจ และเริ่มลองจัดทำโฮมเพจส่วนตัวของตนเองโดยใช้ฟรีโฮสของ Geocities.Com และเริ่มต้นทำธุรกิจ e-commerce โดยการเป็นหน้าร้านขายหนังสือให้กับ Amazon.Com ในลักษณะของ Affiliates

การ เป็น Affiliates กับ Amazon.Com ในสมัยนั้น ไม่ง่ายเหมือนสมัยนี้ คุณต้องรู้จักวิธีการที่จะนำเอา Code ต่างๆ ของเขามาใส่ในโฮมเพจของเราให้ถูกต้อง ดังนั้นเราต้องรู้จักวิธีการเขียนโปรแกรมด้วยภาษา HTML เป็นอย่างน้อย ซึ่งไม่ใช่ปัญหาาสำหรับผม เพราะยังง่ายกว่าการเขียนโปรแกรมบริหารร้านวิดีโอที่แค่โมมูลเดียวมีคำสั่ง ต่างๆ หลายพันบรรทัด

ในขณะเดียวกัน ก็เริ่มพัฒนาเวบไซต์อีกเวบไซต์หนึ่งขึ้นมา เป็นเวบไซต์ของศูนย์ศิลปาชีพ บางไทรฯ ซึ่งเคยทำงานอยู่ เพื่อเป็นการให้ข้อมูลต่างๆ แก่ผู้ที่สนใจทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ นอกจากนั้นยังมีข้อมูลประกอบอื่นๆ อีกมากมายหลายอย่าง รวมทั้งข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาอีกด้วย และเป็นเวบไซต์แรกที่มีข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ใน ขณะนั้นยังไม่รู้จัก SEO อะไรหรอกครับ เพราะว่าไม่ได้หวังผลทางธุรกิจแต่อย่างใด การทำเวบไซต์ก็ลงทุนทำเอง ด้วยค่าใช้จ่ายของตนเอง ทำขึ้นมาเพื่อสนับสนุนงานของตนเองที่ในแต่จะวันจะมีคนเขียนจดหมาย หรือโทรเข้ามาขอข้อมูลเกี่ยวกับศูนย์ศิลปาชีพ บางไทรฯ อยู่เป็นจำนวนมาก เพราะช่วงนั้นก็ยังเป็นช่วงที่กำลังได้รับความนิยม การทำเวบไซต์เพื่อให้ข้อมูลต่างๆ จึงเป็นการลดภาระของงานประจำที่ต้องคอยให้ข้อมูลแก่สาธารณะชนทั่วไปในฐานะ ของเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์

เพื่อความสะดวกในการ ค้นห้า ผมจึงได้ Submit เวบไซต์ของตนเองไปตาม Online Directory ต่างๆ Search Engine ต่าง ที่ละราย ซึ่งในขณะนั้นยังมีอยู่ไม่กี่ราย ไม่ไ้ด้หวังในด้านการโฆษณา แต่หวังว่าจะได้ค้นหาได้สะดวก

ทำ เวบไซต์ได้ไม่นาน ก็เริ่มมี Webmaster ของเวบไซต์อื่นๆ ส่งอีเมล์มาขอแลกลิงค์ บ้างก็ขอแลกแบนเนอร์ ใครขอมา ก็จัดให้ไปตามนั้น เพื่อจะได้เชื่อมโยงและสร้างเครือข่ายให้คนอื่นรู้จัก ซึ่งตอนนั้นก็ยังไม่รู้จัก Link Popularity นอกจากนั้น ก็ได้ทำเวบเพจไว้หนึ่งหน้า ในการทำ web links ไปยังหน่วยงานราชการและเอกชนที่ให้การสนับสนุนกิจการของศูนย์ศิลปาชีพ บางไทรฯ ด้วยดีเสมอมา เพื่อเป็นการขอบคุณผู้ให้การสนับสนุน

และ แล้ววันหนึ่ง ผมก็ได้รับโทรศัพท์จาก Director of Sales ของโรงแรมกรุงศรีวิเวอร์ ซึ่งเป็นโรงแรมที่ดีที่สุดของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาในขณะนั้น ซึ่งผมเองไม่ได้รู้จักเป็นการส่วนตัว เขาโทรมาขอบคุณที่ช่วย Lead ลูกค้ามาให้เขา

ผมงงเป็นไก่ตาแตก ผมไปยุ่งเกี่ยวอะไรกับเขา ผมเองก็ไม่เคยไปข้องแวะอะไรกับเขา แล้วเราไป Lead ลูกค้าให้เขาได้อย่างไร?

"ก็ ลูกค้าเขาค้นหาในอินเทอร์เน็ต แล้วคุณมีชื่อโรงแรมและเบอร์โทรศัพท์ของเราในเวบไซต์ของคุณ ในหน้าที่คุณแนะนำแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ลูกค้าเลยโทรมาหาเพื่อขอทำคอนแทรค"

ได้เรื่องเลย ครับคราวนี้ จากที่ไม่รู้จักเรื่อง SEO ผมได้ทดลองค้นหาคำต่างๆ ใน Search Engine ที่มีอยู่ในขณะนั้น ค้นหาอะไรๆ ก็จะมีเวบไซต์ของเราติดขึ้นมาด้วย จึงได้ร้อง "อ๋อ... มันเป็นเช่นนี้เอง" และเป็นที่มาของการู้จัก SEO และ link popularity ที่ธุรกิจในประเทศไทยยังไม่เคยมีใครพูดถึงในขณะนั้น

Thursday, 14 April 2011

เคล็ดลับ การทำเวบโรงแรม ตอนที่ 1

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีเนื้อหามามาก จึงต้องแบ่งเป็นตอนๆ และยังไม่รู้ว่าจะต้องเขียนสักกี่ตอนจึงจะจบ เพราะมีรายละเอียดมากมาย และเชื่อว่าโรงแรมต่างๆ จำนวนมาก ไม่รู้เกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ เพราะผู้ที่มารับจ้างทำเวบไซต์ให้กับโรงแรมต่างๆ ก็พยายามที่จะนำเสนอ Solutions ของตนเองเป็นหลัก เพราะเป็นช่องทางในการทำมาหากินของเขา และมักจะบอกว่าเวบที่โรงแรมใช้อยู่ไม่ดีอย่างนั้น อย่างนี้ เพื่อพยายามขาย Solutions ของตนเอง ส่วนเจ้าของโรงแรมที่ไม่รู้เรื่องรู้ราว เห็นว่า โรงแรมเชนห้าดาวเขาใช้อย่างนั้น ก็ทำตามเขาบ้างโดยหารู้ความจริงไม่ที่ว่า...

โรงแรมเชนทั้งหลายแหล่ ไม่ประสงค์ที่จะให้ผู้เข้าชมเวบมีโอกาสติดต่อตรงกับทางโรงแรม ถ้าไม่เชื่อลองไปเปิดเวบไซต์โรงแรมเชนใหญ่ๆ ดูได้ว่า ถ้าท่านต้องการ e-mail address เบอร์โทรศัพท์ โทรสาร เพื่อใช้ในการติดต่อ โรงแรมโดยตรง หาแทบไม่เจอ นั่นคือการปิดกั้นวิธีการเข้าถึงการติดต่อกับโรงแรมโดยตรง

การนำเสนอเนื้อหาในเวบไซต์ของเวบโรงแรมเชนใหญ่ๆ จะมีพื้นที่ในการนำเสนอเนื้อหาอยู่จำกัด และรูปแบบเนื้อหาอยู่ในกรอบของเวบไซต์ของเชน ไม่สนับสนุนต่อเนื้อหาสำหรับนำเสนอธุรกิจเฉพาะโรงแรมแต่ละแห่ง ทำให้ไม่สามารถแข่งขันกับโรงแรมอื่นๆ ในท้องถิ่นของตนเองได้ ที่เป็นเช่นนั่นก็เพราะว่า เชนโรงแรมส่วนใหญ่จะได้ส่วนแบ่งจากการขายห้องพักเป็นรายได้ของเชน ในขณะที่การขายสินค้าและบริการอื่นๆ ของโรงแรมในเชนนั้นทางเชนไม่ได้รับรับส่วนแบ่งผลประโยชน์ ดังนั้นเวบไซต์เชนโรงแรมต่างๆ จึงมุ่งเน้นไปที่การขายห้องพักที่พวกเขาจะได้รับส่วนแบ่งผลประโยชน์

เราจะสังเกตุเห็นว่าการนำเสนอรูปภาพโรงแรมตามเวบไซต์เชนโรงแรมต่างๆ นั้น เน้นที่จะนำเสนอภาพเคลื่อนไหว และภาพที่มีเทคนิคหลากหลาย มากกว่าภาพนิ่งที่เป็นเอกเทศของแต่ละภาพ ถ้าเราจะมองเฉพาะด้านความสวยงามและ ภาพลักษณ์ที่ดีของเวบไซต์ ก็จะรู้สึกว่าสวยงามดี ดูหรูหรา เป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ของเชนโรงแรมเหล่านั้นเอง แต่โดยแท้จริงแล้ว วิธีการออกแบบเวบไซต์เชนโรงแรมเหล่านี้มีแนวความคิดในการออกแบบที่ลึกซึ้งไปมากกว่านั้น นั่นคือ...

เวบไซต์ของเชนโรงแรมเหล่านี้ ต้องไม่นำไปสู่การเข้าถึงข้อมูลของโรงแรมภายในเชนของตนเองได้โดยตรง และทำสำคัญ ส่วนใหญ่จะปิดกั้น SEO ไว้โดยสิ้นเชิง เพราะอะไรน่ะหรือครับ...

ท่านเคยได้ยินคำนี้ไหมครับ "สวย แต่ปัญญาอ่อน" ไม่ทราบว่า ถ้าเป็นอย่างนี้ ท่านอยากได้เป็นภรรยาในอนาคตไหมครับ

คราวนี้ตามผมมาครับ จะอธิบายให้ทราบว่า ทำไมผมพูดไปเช่นนั้น
1. หน้าแรก ถ้าเข้ามาแล้วเจอ Intro Flash หรือ Movie ก่อนแล้วต้องคลิ๊กไปหน้าต่อไป เวบแบบนี้ พอ Google เข้ามาเจอ ก็จะบอกว่า Good Bye Forever เพราะอะไรน่ะเหรอครับ ก็เพราะว่าเข้ามาแล้วเจอทางตัน ไม่รู้ว่าจะไปไหนต่อละซิครับ เพราะ Robot ของ Google เอง ไม่ฉลาดพอที่จะคลิ๊ก เพื่อเข้าไปดูหน้าอื่นๆ ต่อ

2. เวบไซต์ใดๆ ที่หน้าแรก หรือ Home Page ที่เปิดเข้ามาแล้ว เจอภาพ Flash หรือ Movie แล้วตามมาด้วย Flash Menu พอ Google เข้ามา เพื่อที่จะหาข้อมูลของเวบไปเก็บไว้ในฐานข้อมูล พอเข้ามาเจอ ภาพเคลื่อนไหวต่างๆ ไม่มีเนื้อหาที่เป็นข้อความ หรือมีข้อความอยู่น้อย ไม่มีชื่อรูปภาพที่เป็นชื่อเฉพาะ ก็ไม่รู้ว่าจะเก็บอะไรไปไว้ในฐานข้อมูลตัวเอง ที่แย่ไปกว่านั้น ในส่วนที่เป็นเนื้อหาสาระหลักของเวบไซต์ที่ควรจะเป็นข้อความ ก็ยังดันทุรัง ทำให้เป็นภาพเคลื่อนไหวซะอีกนี่ซิไปกันใหญ่ ดังนั้น หน้าแรก ควรที่รูปภาพที่มีชื่อเฉพาะของภาพนั้นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเวบไซต์ และเนื้อหาสาระหลักที่จะนำเสนอไว้ในหน้าแรกให้มากที่สุด Robot ของ Google จึงจะชอบใจ และใช้เวลาอยู่กับเวบไซต์ของเรามากกว่า ที่พอเข้ามาแล้วก็จากไป

3. เมนูแฟลซที่สวยงาม คือนิยามของ "ไร้สาระ" ที่ว่าอย่างนั้นก็เพราะว่า เมนูแฟลซที่สวยงามนั้น Robot ของ Google จะมามองไม่เห็นถึงทางเดินที่จะเชื่อมโยงไปยังหน้าอื่นๆ ภายในเวบไซต์นั้นได้ ซึ่งเป็นความหมายของ "ไร้สาระ" เนื้อหาที่จะค้นหาต่อไปได้ แต่ถ้าเวบไซต์ใดๆ ที่มีเมนู หรือ Text Link ไปยัง หน้าเวบไซต์อื่นๆ ก็เป็นเหมือนสะพานที่ทอดไว้ให้ Robot ของ Google ได้วิ่งเข้าไปสำรวจเนื้อหาสาระภายใน เก็บไปเสนอเจ้านายว่าเวบไซต์นี้มีเนื้อหาสาระมากมาย เข้าไปแล้วได้ประโยชน์

เจ้า Robot ของ Google นี่เขาทำงานตรงไปตรงมานะครับ รายงานตามข้อเท็จจริง ตามความเป็นจริง ไม่เหมือน Sales หลายๆ คน ที่ดีแต่เขียนรายงานให้สวยหรู ดูดี แต่ไม่มีผลงาน ที่ชอบไปแต่ไปงานที่เขาจัดขึ้นมาฟรี แล้วเก็บไปเขียน Report เจ้านายแทนการไปออก Sales จริงไ ได้เป็นอาทิตย์

ตอนที่ 1 นี้ แค่เรียกน้ำย่อยนะครับ จงเจ็บๆ คันๆ กันไปบ้าง ก็อย่าว่ากันเลย ใครไม่ชอบอ่าน ก็ไม่ต้องผ่านมาแถวนี้เลยครับ ไม่ได้ว่ากัน

ชื่อรูปนั้น สำคัญไฉน

วันนี้มีเคล็ดลับเล็กๆ น้อยมาฝากกันในช่วงเทศกาลสงกรานต์นะครับ พอดีกลับมาเยี่ยมแม่ที่จันทบุรี ว่างๆ
ไม่มีอะไรทำ นึกขึ้นได้เกี่ยวกับรูปภาพต่างๆ ที่มีผู้นำมาใช้ในเวบไซต์ต่างๆ นั้น หลายๆ คนคงไม่เคยนึกว่า การตั้งชื่อรูปภาพต่างๆ นั้นให้มีความหมาย ให้มีชื่อสอดคล้อง หรือเกี่ยวข้องกับธุรกิจของตนนั้น ก็สามารถที่จะใช้ในการทำ Lead Generation ได้เป็นอย่างดี

รูปภาพแต่ละภาพที่เรานำขึ้นมาแสดงในเวบเซต์ของเราเองนั้น เราสามารถตั้งชื่อไฟล์ 2 ประเภทคือ
1. ชื่อไฟล์ของภาพ นั่นก็คือชื่อเฉพาะประจำภาพนั้นๆ
2. ชื่อภาพ คือชื่อที่เราใช้ในการบรรยายภาพนั้นๆ สั้นๆ เมื่อเรานำขึ้นมาแสดงบนเวบไซต์ ซึ่งเมื่อผู้เข้าชมเวบไซต์เคลื่อนเม้าส์มาบนภาพนั้น ก็จะปราำกฎชื่อบรรยายภาพนั้นขึ้นมาให้เห็น

ท่านทราบหรือไม่ว่า ทุกครั้งที่เรามีการค้นหาคำ หรือข้อความใดๆ ใน Google นั้น Google ก็จะทำการค้นหาชื่อภาพ และคำบรรยายภาพขึ้นมาแสดงด้วย ดังนั้นการตั้งชื่อไฟล์รูปภาพ และชื่อภาพที่แสดงในเวบไซต์ให้มีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจ หรือสินค้าและบริการของท่าน จึงสามารถที่จะ Lead ผู้เข้ามาชมเวบไซต์ของท่านได้มากกว่าการตั้งชื่อไฟล์ และชื่อรูปภาพที่ไม่สื่ออะไรเลย

ผมเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า เคล็ดลับเล็กๆ น้อยๆ อย่างนี้ ไม่มีบริษัทที่รับทำ SEO รายใดที่เสนอตัวเข้ามารับทำ SEO ให้ท่านจะเผยเคล็ดลับนี้ออกมาให้ท่านได้ล่วงรู้  ไม่เช่นนั้นแล้วเขาก็จะหากินได้ลำบาก

Tuesday, 12 April 2011

การดูแลงาน Function คือ Lead Generation สำหรับ Sales

 ไหนๆ ลงมือเขียนแล้ว ก็เลยขอเขียนเสนอแนวความคิดทางด้านการขายให้กับน้องๆ ที่ทำงานด้านการขายของโรงแรมเกี่ยวกับการขายงานฟังก์ชั่นของโรงแรมต่ออีกสักเล็กน้อย

ในมุมมองของผู้บริหารโรงแรมยุคไดโนเสาร์ มักจะบริหารงานในลักษณะของ Functional คือมีการแบ่งแยกหน้าที่ของแต่ละคนออกไปอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด โดยคิดว่าให้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเขาทำงานไป โดยไม่เคยคิดเอาแนวการบริหารงานแบบบูรณาการมาใช้ในการบริหารงานให้สามารถแข่งขันได้ในปัจจุบัน

ที่ผมใช้หัวข้อนี้มาเขียนก็เพราะว่าผู้บริหารโรงแรมหัวโบราณมักจะมี Mind Set ฝังไว้ในหัวอยู่ตลอดว่า เซลส์มีหน้าที่ในการออกไปหาลูกค้า ไปหาธุรกิจเข้ามาสู่โรงแรม ส่วนการดูแลลูกค้าที่มาใช้บริการภายในโรงแรมนั้น ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของพนักงานปฏิบัติการภายในโรงแรมเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ

ดังนั้นในโรงแรมที่มีผู้บริหารหัวโบราณจึงจะมีการแบ่ง Sales Team ออกไปตาม Function หรือลักษณะของ Specialist คือ คนนึงไปขาย Agents คนนึงไปขาย Corporates คนนึงไปขายงาน Functions ออกไปอย่างชัดเจน แล้วแต่ละคนก็รับผิดชอบเป้าการขายระหว่างหัองพัก กับ function ออกจากกันอย่างชัดเจน

ทีนี้ลองนึกภาพตามผมนะครับว่า Agent รายหนึ่ง มีกรุ๊ปประชุมสัมนา ของ Corporate รายใหญ่เจ้าหนึ่งต้องการมาใช้บริการที่โรงแรม แล้วทางโรงแรมจะให้งานชิ้นนี้กับใครไปดูแล ถ้า
1. เอเย่นต์สนิทกับเซลส์ที่เป็นเซลส์ทางด้านเอเย่นต์ และเชื่อมั่นว่าเซลส์ที่ตนเองรู้จักและใช้บริการกันมานานเป็นผู้ดูแลลูกค้าของเขา
2. ทางผู้บริหารโรงแรมเห็นว่าบริษัทนี้ก็เป็นลูกค้าของเซลส์ Corporate  ที่มาใช้บริการโรงแรมอยู่เนืองๆ ก็ต้องเป็นลูกค้าของเซลส์ Corporate (แต่คราวนี้ใช้ผ่านเอเย่นต์ เพราะต้องการใช้บริการอื่นๆ ของเอเย่นต์ หรือ Organizer ด้วย)
3. การขายงานฟังค์ชั่น อยู่ในความดูแลของเซลส์ฟังค์ชั่น และให้เข้าไปคุยกับลูกค้าที่เป็นเอเย่นต์ในรายละเอียด
4. เวลามีงานฟังค์ชั่นจริงๆ งานทั้งหมดอยู่ในความดูแลของพนักงานปฎิบัติการของทางโรงแรม แล้วเซลส์ทั้งสามคนข้างต้นไม่ต้องมาคอยดูแล

ผมแค่ยกตัวอย่างมาแค่นี้ ใครก็ตามที่มีประสบการณ์ลักษณะนี้คงนึกในใจละว่า "โอละพ่อ ละงานนี้" ทำไมเหรอครับ ก็เพราะว่างานนี้แลกมาด้วยการได้งานนี้มาทำ กับการเสียอนาคนของเซลส์อีก 3 คนข้างต้นเพราะแนวการบริหารงานของผู้บริหารงานหัวโบราณ เพราะว่า...

1. เสียลูกค้าที่เป็นเอเย่นต์ เพราะไม่คุ้นกับการที่ต้องติดต่องานกับคนหลายๆ คน ต้องพูดเรื่องเดียวกันสามรอบ หรือไม่ก็จะเกิดการโยนกลองซึ่งกันและกัน
2. ลูกค้า Corporates ที่มาใช้บริการ แต่ไม่ใช่คนจ่ายตังค์ และไม่ใช่ Organizer งานนี้ ก็จะเอาโน่นเอานี่ตามที่ตนเองเคยได้โดยหาคิดไม่ว่า คราวนี้เอเย่นต์เป็นคนรับผิดชอบค่าใช้จ่าย และเป็นผู้จัดงาน
3. Sales ที่ขายฟังค์ชั่น ก็จ้องจะชาร์จดะโน่นนั่นนี่ ตามประสาของคนขาย F&B ที่งกและต้องขายแล้วให้ F&B มีกำไรไม่น้อยกว่า 30% ตามเกณฑ์มาตรฐานของตนเอง

พอถึงเวลางานจริงๆ Sales ทั้งสามคน ไม่มีใครอยู่ดูแลงาน ปล่อยให้ทุกอย่างอยู่ในการดูแลของฝ่ายปฎิบัติการ (ลองนึกภาพตามนะครับ) ลูกค้า Corporate ที่มาร่วมงานฟังค์ชั่นต้องการอะไรสักอย่าง ใครจะตัดสินใจว่าจะให้ฟรีหรือจะชาร์จ ถ้าให้ฟรี จะให้เป็นค่าใช้จ่ายของแผนกไหน เพราะมีทั้งห้องพัก มีทั้งงานฟังค์ชั่น ถ้าจะชาร์จ จะชาร์จใคร ฯลฯ ถ้าเกิดปัญหาอะไร จะต้องติดต่อใคร ใครจะตัดสินใจ หรือรับผิดชอบ หรือว่า งานนี้งานเดียว จะต้องเอา Sales ทั้ง 3 คนมาดูแลงาน เพราะแต่ละคนไม่รู้รายละเอียดของงานแต่ละคน (นึกมาถึงตรงนี้ผมละอดคิดถึงประสบการณ์เก่าๆ ไม่ได้ว่า ถ้าเกิดปัญหาเกี่ยวกับงานนี้ขึ้นผมเชื่อได้ว่าเจ้านายเก่าผมคงจะหลบไปนอนที่ห้องพักของตัวเองเป็นแน่แท้ แล้วก็ปล่อยให้พนักงานตัวเล็กๆ ไปรับหน้าตามระเบียบ)

งานฟังค์ชั่นงานนี้ถ้าเป็นงานใหญ่ มีผู้มาร่วมงานจากสถานที่ต่างๆ อยู่เป็นจำนวนมาก จะเอาแบบให้เขามาใช้บริการครั้งเดียวเท่านั้นหรือ การไล่ Sales ออกไปหาลูกค้าใหม่ข้างนอก วันๆ นึง เซลส์จะไปหาลูกค้าได้กี่ราย ไปหาแล้วเขาจะมีโอกาสได้มาลองใช้บริการบ้างหรือไม่ก็ยังไม่รู้...

แล้วลูกค้าที่มาร่วมงานฟังค์ชั่นล่ะ มีจำนวนกี่คนมีประสบการณ์ในการใช้บริการอย่างไร ถ้าผู้บริหารโรงแรมมีหัวคิดแบบบูรณาการตามหลักการบริหารงานสมัยใหม่ย่อมจะต้องคิดว่า งานฟังค์ชั่นใหญ่ๆ แต่ละงานนั่นคือโอกาสของ Lead Generation และ Customer Engagement ที่ยิ่งใหญ่ แล้วทำไมจึงจะไล่เซลส์ออกไปเซลส์ แล้วทิ้งงานไว้กับพนักงานปฏิบัติการ

ผู้บริหารโรงแรมหัวโบราณบางคนอาจจะแย้งว่า ที่โรงแรมก็ดูแลได้ บริการให้ดีๆ เดี๋ยวเขาก็กลับมาใช้บริการเองแหละ แต่...

ท่านผู้บริหารที่ไร้สมองทั้งหลายครับ อย่าคิดว่าการขายนั้นมันง่ายแค่นั้น ถ้าจะให้ดี ลองไปศึกษากระบวนการขายที่นักวิชาการทั้งหลายเขาศึกษาวิจัย และเขียนตำราไว้ให้ศึกษากันมากมายครับว่า กระบวนการขายนั้นมีกี่ขั้นตอน แต่ละขั้นตอนนั้นต้องใช้ทักษะและความสามารถพิเศษ หรือความไว้วางใจอะไรอย่างไรกันบ้าง

แค่มุมมองในการขายกับการตลาดก็ต่างกันแล้วครับ แค่งานนี้ F&B จ้องจะฟันดะอย่างเดียว โดยไม่คำนึงถึง Overall revenue หรือ Total Turnover ก็จะเสียธุรกิจไปทั้งหมด หรือ...

ถ้าจะฟันกำไรจากงานนี้ให้เต็มที่ ก็ระวังจะเสียธุรกิจที่เคยได้จากเอเย่นต์รายนี้ที่มีมาให้โรงแรมอยู่อย่างสม่ำเสมอ

หรือถ้าผู้บริหารโรงแรมเข้าไป Involve หรือไป Override ข้อเสนอต่างๆ ของเซลส์ที่เป็นคนขาย ต่อไปก็ไม่ต้องให้เซลส์คนนั้นไปขายอะไรให้ลูกค้าอีกต่อไป เพราะต่อไปลูกค้าไม่คุยกับเซลส์คนนั้น มีอะไรก็จะคุยกับนายอย่างเดียว แล้วอีกหน่อย เจ้านายก็เป็นคนที่ต้องมาขายแทนเซลส์ ขายถูกบ้าง ผิดบ้าง หรือไม่สามารถปิิดการขายได้ เพราะไม่มี Salesmanship และศิลปะในการเจรจาต่อรอง และไม่รู้จักวิธีการต่อยอดด้วยการเสนอขายสินค้าให้แก่ลูกค้าที่มาอยู่รวมกันที่โรงแรมของตนเองอยู่ในขณะนี้

อีกประการหนึ่งที่ท่านผู้บริหารโรงแรมมักจะไม่เคยคำนึงถึงว่า Lead Generation นั้น Conference เป็นวิธีการที่สำคัญอย่างหนึ่งในการนำเอาลูกค้าเป้าหมายมาร่วม Conference ตามโรงแรมต่างๆ เพื่อให้มีโอกาสได้นำเสนอสินค้าและบริการ ได้มีโอกาสพบปะทำความรู้จักและคุ้นเคยกัน ฯลฯ แต่นี่มีคนจ่ายเงินให้ จัดงานฟังค์ชั่นในโรงแรม แล้วทำไมทางโรงแรมไม่ใช้โอกาสนี้มาใช้ในการทำ Lead Generation กับผู้มา่ร่วมงานเหล่านี้

อีกประการหนึ่งที่ผู้บริหารโรงแรมต่างๆ มักจะมองข้าม หรือ "มีแต่หัววางไ้ว้ให้หนักบ่า หามีปัญญาไม่" ก็คือ เคยให้ความสำคัญเกี่ยวกับหัวข้อการอบรมสัมนาต่างๆ ที่เขามาใช้บริการที่โรงแรมหรือไม่ แล้วทำไมหน่วยงานเหล่านั้นจะต้องลงทุนจ่ายเงินแพงๆ จ้างเอเย่นต์มาจัดการให้ จ้างวิทยากรชื่อดังค่าตัวแพงๆ มาอบรมให้ แล้วทำไมไม่ใช้โอกาสอย่างนี้ในการที่จะให้เซลส์ของโรงแรมได้มีโอกาสพัฒนาความรู้และศักยภาพในการแฝงตัวเข้าไปดูแลงานฟังค์ชั่นพร้อมไปกับการได้รับฟังการบรรยาย การอบรมความรู้แปลกๆ ใหม่ๆ ที่ใครๆ เขายอมจ่ายเงินมากมายเพื่อให้มีโอกาสได้ศึกษาเรียนรู้

ผู้บริหารโรงแรมหัวโบราณเหล่านี้จะรู้หรือไม่ว่าการที่ท่านมัวคิดอยู่แต่ว่า วันๆ นึงเซลส์โรงแรมต้องออกไปพบลูกค้าให้ได้เท่าโน้นเท่านี้ราย แล้วคอยอ่านแต่รายงานที่สวยหรูดูดี แต่ไม่มีเซลส์ที่เป็นเจ้าของงานดฟังค์ชั่นนั้น ท่านคิดว่าท่านกำลังทำประโยชน์ให้กับโรงแรมอยู่หรือท่านกำลังทำลายกระบวนการ Lead Generation ที่ท่านไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย

อีกประการหนึ่งท่านเคยฉุกคิดบ้างไหมว่าทำไมทุกวันนี้นวัตกรรมใหม่ๆ ต้องคิดต้องพัฒนาอะไรๆ ให้มันเป็น Multi-Function หรือ Multi-Tasking หรือไม่ก็ All-in-one เพื่อลดต้นทุน ลดการใช้ทรัพยากร และลดเวลาการทำงาน แต่การที่ท่านๆ ที่แยกหน้าที่ความรับผิดชอบของ Sales แต่ละคนออกไปตาม Function ของงานนั้น เคยคิดบ้างไหมว่า ท่านไม่รู้จักการบูรณาการให้สมกับยุคและสมัย

ส่วน Sales โรงแรมทั้งหลาย ท่านเคยคิดบ้างหรือไม่ว่า งาน Function ในโรงแรมแต่ละงาน หรือโอกาสของ Lead Generation อันยิ่งใหญ่สำหรับอาีชีพการงานในอนาคต ไม่ใช่แค่ว่าขายแล้วไม่ใช่เรื่อง หมดเวลาทำงานก็ปิดคอมเปิดตูดกลับบ้าน เคยคิดบ้างไหมว่า Organizer ทั้งหลายยังต้องมานั่งรอให้งานของตนเองเสร็จลุล่วงไปด้วยดี แล้วเซลส์โรงแรมล่ะ ใครดูแล Organizer เหล่านี้ แล้วต้องการขายครั้งเดียวเลิกหรือ

อนาคตในสายงานนี้ อาชีพนี้ อย่าเอาไปฝากไว้กับใครที่เขาไม่ต้องรับผิด (แต่รับความชอบน่ะเอา) ตามประสาคนที่ชอบ "เอาความดีเข้าตัว ความชั่วโยนให้คนอื่น"

เพิ่มยอดขาย และสร้างความประทับใจในสไตล์ Proactive CRM กับลูกค้าที่จองผ่านระบบออนไลน์

Customer Relationship Management หรือ CRM ที่รู้จักกันทั่วไปในขณะนี้นั้น โรงแรมต่างๆ ได้มีการบูรณาการกระบวนการต่างๆ ของ CRM ในโรงแรมของเองกันอย่างไร ใครที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดการด้าน CRM ของโรงแรม และโรงแรมนำเอา CRM มาเพิ่มยอดขายและสร้างความประทับใจในการบริการของโรงแรมของตนอย่างไร

โดยทั่วไป โรงแรมต่างๆ จะมีการจัดการ CRM กับลูกค้าที่เคยมีประวัติการเข้าพักที่โรงแรมของตน โดยอาศัยฐานข้อมูลที่ได้จากลูกค้าเมื่อลงทะเบียนเข้าพัก แต่การจัดการ CRM กับอดีตลูกค้านั้นมักจะมี Conversion Rate ที่ต่ำ สำหรับโรงแรมที่บริการนักท่องเที่ยวแบบพักผ่อนหย่อนใจ (Leisure) เพราะโอกาสที่จะกลับมาใช้ซ้ำนั้นน้อยเต็มที แล้วถ้ายิ่งอดีตลูกค้าได้รับอีเมล์จากเราบ่อยๆ ที่เราส่งไปนำเสนอสินค้าและบริการ อาจสร้างความรำคาญให้แก่ลูกค้า แล้วถ้าในที่สุดลูกค้าตัดสินใจที่จะกด "Spam Mail" ที่อีเมล์ที่เราส่งไปละก็เมื่อนั้น เป็นอันว่า CRM ของเรา หมดสิ้นอนาคต

วันนี้ผมขอนำเสนอแนวความคิดในการเพิ่มยอดขาย และสร้างความประทับใจในการบริการให้แก่ลูกค้าในสไตล์ Proactive CRM กับลูกค้าที่จองผ่านระบบออนไลน์ ที่ยังไม่ได้เข้ามาพัก หรือเข้ามาใช้บริการของโรงแรมของเรา แต่ได้มีการจองเข้ามาแล้ว โดยผมใช้แนวความคิดที่ว่า...

"การมานั่งดูสถิติตัวเลขจากการขายที่ผ่านมานั้น เราไม่สารถเปลี่ยนแปลงยอดขายจากการขายให้กับลูกค้าในอดีตได้ แต่การที่เราใส่ใจกับว่าที่ลูกค้าที่มีอยู่ เราสามารถที่จะเพิ่มยอดขายในอนาคตได้"

และ

"ผมไม่เน้น Market Share ด้วยการไปแย่งชิงเอาลูกค้ามาเป็นจำนวนมากๆ ด้วยการขายราคาถูกๆ เพราะลูกค้าราคาถูกเหล่านี้จะไม่ใช้จ่ายอะไรในโรงแรมเพิ่มเติมอีกเลย แต่ผมเน้น Customer Share คือลูกค้าของเราที่เรามีอยู่ในมือ ทำอย่างไรเราจึงจะให้ลูกค้าเหล่านี้มียอดค่าใช้จ่ายกับเราต่อคนต่อคืนเพิ่มมากขึ้น"

และใช้ทฤษฎีลูกค้าที่ว่า

" 20% ของลูกค้า คือผู้สร้างรายได้ 80% ให้กับธุรกิจ แล้วเราจะทำอย่างไรจึงจะเพิ่มอัตราการใช้จ่ายของลูกค้า 20% เหล่านี้เพิ่มมากขึ้น การให้บริการลูกค้าน้อยรายกว่า ย่อมใช้ค่าใช้จ่ายในการขายที่น้อยกว่า รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาที่ต่ำกว่า แต่อัตราความพึงพอใจของลูกค้าสูงกว่า"

และทฤษฎีของการตลาด การขาย และ CRM ที่ว่า
"การหาลูกค้าใหม่เสียค่าใช้จ่ายสูงกว่าการขายสินค้าและบริการให้กับลูกค้าเก่า หรือลูกค้าที่มีอยู่ในมือ บ้างก็ว่า 10 เท่า บ้างก็ว่า 15 เท่า ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับข้อมูลที่ใช้เป็นฐานในการวิจัยของแต่ละสำนัก"

โดยทั่วไป ลูกค้าที่ไม่เคยมีประสบการณ์เข้าพักที่โรงแรมใดโรงแรมหนึ่งย่อมใจตุ้มๆ ต่อมๆ กับโรงแรมที่ตนเองไม่เคยมีประสบการณ์เข้าพัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกค้าที่จองห้องพักผ่านระบบออนไลน์ ที่ลูกค้ามักจะไม่ค่อยมีความมั่นใจกับโรงแรมที่ตนเองจะไปพักมากนัก เพราะ...
1. เวบไซต์ของ OTAs หรือ ข้อมูลที่ลูกค้าได้รับจาก Travel Agent ต่างๆ มีอยู่ค่อนข้างจะจำกัด ประเภทห้องพักที่มีให้ลูกค้าเลือก ก็มีอยู่ค่อนข้างจำกัด ส่วนใหญ่มีห้องพักประเภท Leading Category และ ประเภทที่สูงขึ้นมาอีกหนึ่งประเภท เพียงเท่านั้น
2. สิ่งอำนวยความสะดวก และบริการต่างๆ ของทางโรงแรมที่มีไว้บริการลูกค้าไม่สามารถนำเสนอผ่านทาง OTAs และ Travel Agents ต่างๆ ได้อย่างเต็มที่

ลูกค้าที่จองห้องพักมานั้นส่วนใหญ่จองมาด้วยห้องพักประเภทพื้นฐาน แล้วหวังว่าจะมาหาซื้อเพิ่มเิติมเมื่อมาถึงปลายทาง หรือเมื่อได้มาลงทะเบียนเข้าพักที่โรงแรมที่ลูกค้าจะได้มีโอกาสซักถามหรือหารายละเอียดเพิ่มเิติมได้อย่างเต็มที่ ซึ่งโรงแรมต่างๆ ก็หวังจะมา Up sell กับลูกค้าเมื่อลูกค้ามาลงทะเบียนเข้าพัก

แต่ระหว่างที่ลูกค้าจองห้องพัก หรือ package ทัวร์ครั้งแรกแล้ว จนถึงการลงทะเบียนเข้าพักที่โรงแรมนั้น ระหว่างนี้เป็นช่วงเวลาที่ทางโรงแรมมีโอกาสที่จะ Up Sell สินค้าและบริการต่างๆ ของตนเองได้มากกว่าที่จะรอลูกค้ามาลงทะเบียนเข้าพักก่อน เพราะอาจจะโดนชิงตัดหน้าไปก่อนตั้งแต่ลงจากเครื่องบินที่มักจะมีผู้ไปเสนอขายสินค้าและบริการต่างๆ กันอยู่อย่างเพ่นพล่านในสนามบิน บริเวณรับกระเป๋า ออกนอกห้องผู้โดยสารขาเข้า Limousine และแท๊กซี่ ที่พยายามเสนอขายสินค้าและบริการต่างๆ โดยวิธีการหลอกล่อ และวิธีการพูดที่ดีกว่า Reception ของโรงแรม บ้างก็โยกลูกค้าที่จองไว้กับโรงแรมของเราไปพักที่โรงแรมอื่นมันซะเลย แล้วก็ให้ลูกค้ามา Refund ค่าห้องพักคืนกับเราในภายหลัง

เห็นไหมครับว่า แม้จะจองโรงแรมเรามาแล้ว ลูกค้ายังจะต้องผ่านด่าน 18 อรหันต์มาอีกกี่ด่านก่อนมาถึงเรา แล้วเราหวังจะให้ Reception ของเราไป Up Sell กับว่าที่ลูกค้าของเราได้อย่างไร ดีไม่ดี วันไหน Reception ทะเลาะกับสามีของตนเองมาก่อนมาทำงาน อาจจะไล่ลูกค้าตั้งแต่ตอนลงทะเบียนเข้าพักก็เป็นไปได้

การเพิ่มยอดขายและสร้างความประทับใจในสไตล์ Proactive CRM กับลูกค้าที่จองผ่านระบบออนไลน์นั้นมีแนวทางวิธีการดำเนินการดังนี้ครับ
1. ที่เน้นสำหรับลูกค้าที่จองผ่านระบบออนไลน์ก็เพราะว่าลูกค้าที่จองผ่านระบบออนไลน์จะมี e-mail address มาให้ตอนทำ Reservation โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จองผ่านเวบไซต์โรงแรม หรือเวบไซต์ OTAs ที่ลูกค้ามาจ่ายตรงที่โรงแรม ลูกค้าจองผ่าน GDS และ OTAs อื่นๆ ที่มี e-mail address มาให้ เช่น Wotif.com Travelocity.com เป็นต้น
2. เมื่อได้รับ booking มาแล้ว สิ่งที่ควรทำคือ
2.1 ส่งอีเมล์กลับไปยังลูกค้าเพื่อเป็นการยืนยันกับลูกค้าว่าโรงแรมของเรายืนยันการจองห้องของลูกค้าอย่างเป็นทางการ และให้ข้อมูลแก่ลูกค้าว่าในช่วงที่ลูกค้าจะเข้าพักนั้นจะมีกิจกรรม หรือ Events อะไรเกิดขึ้นมาบ้าง ถ้ากิจกรรมน่าสนใจ ลูกค้าอาจจะชักชวนคนอื่นให้เดินทางมาด้วยก็ได้
2.2 นำเสนอห้องพักประเภทอื่นๆ ที่ลูกค้าอาจจะต้องการ Upgrade ให้ตรงความต้องการของลูกค้าที่ไม่สามารถหาจองได้จาก Agents หรือ OTAs
2.3 นำเสนอสินค้าและบริการอื่นๆ ให้แก่ลูกค้า โดยให้ราคาพิเศษแก่ลูกค้าที่จองมาล่วงหน้าก่อนการเข้าพัก ที่ลูกค้าเห็นว่าจะได้ประโยชน์ถ้าซื้อเพิ่มเติมมาล่วงหน้า เช่น อาหาร 1 มื้อ (ปกติลูกค้าจะกินมื้อแรกในโรงแรมถ้าไม่มีร้านอาหารอื่นใดตั้งอยู่ใกล้ๆ กับโรงแรม)
2.4 นำเสนอราคาห้องพักราคาพิเศษให้แก่ลูกค้าหากมีการจองห้องพักมาเพิ่มเิติม (ลูกค้าที่จองมานั้น อาจจะมีเพื่อนฝูง หรือคนรู้จัก ที่แยกกันเดินทางมาก็ได้) ถ้าลูกค้าได้สิทธิพิเศษนี้ อาจจะชักจูงเพื่อนฝูงมาพักกับตนเองด้วยก็ได้ และลูกค้าก็ยังมีเวลาเพียงพอในการที่จะไปชักชวนผู้อื่น ซึ่งจะทำให้สามารถขายห้องพักไ้ด้เพิ่มมากขึ้น
2.5 นำเสนอส่วนลดพิเศษสำหรับ Airport Transfer ให้แก่ลูกค้า เพราะถ้าปล่อยให้ลูกค้าไปใช้บริการที่อื่น การขายสินค้าและบริการอื่นๆ อาจจะหมดสิทธิ์ขายให้แก่ลูกค้าได้
2.6 ก่อนวันเข้าพัก 2-3 วัน ควรส่งอีเมล์ไปเตือนลูกค้า และแนะนำลูกค้าเกี่ยวกับรายละเอียดการเดินทางมายังโรงแรม ซึ่งนอกจากจะเป็นการให้ข้อมูลลูกค้าแล้ว ยังจะเป็นการแสดงให้เห็นว่าเราใส่ใจกับลูกค้า (แต่ความจริงแล้ว เรายังหาโอกาสในการขายสินค้าและบริการต่างๆ ให้แก่ลูกค้าในนาทีสุดท้าย ถ้าลูกค้ายังไม่ซื้อสินค้าและบริการเหล่านั้นไว้ล่วงหน้า) และเป็นการแจ้งเตือนลูกค้าด้วยว่าถ้าจะยกเลิกการจอง หรือเปลี่ยนแปลงกำหนดเข้าพัก ต้องดำเนินการในวันที่ได้รับอีเมล์ของทางโรงแรม
2.7 วันที่ลูกค้าเข้าพัก ทางโรงแรมเตรียมใบลงทะเบียนลูกค้าไว้ให้เรียบร้อย พร้อมทั้งเตรียมห้องพักและบริการต่างๆ ที่ลูกค้าไ้ด้จองไว้ เมื่อลูกค้ามาถึง เพียงแค่กรองหมายเลขตรวจคนเข้าเมือง และลงเซนต์ชื่อในใบลงทะเบียนผู้เข้าพัก แค่นั้นก็เสร็จสิ้นกระบวนการลงทะเบียนเข้าพัก Reception ที่รับลงทะเบียนแขกเข้าพัก เมื่อไม่ต้องพยายาม Up Sell ให้แก่ลูกค้า ใช้เวลา เช็คอิน น้อย ก็จะยิ้มแย้มแจ่มใส เพราะไม่ต้องพูดอะไรกับลูกค้ามาก ส่วนลูกค้า ใช้เวลาเช็คอินน้อย และได้รับการบริการที่ดีตอนเช็คอิน เพราะทางโรงแรมมีข้อมูลต่างๆ ของลูกค้าอยู่ล่วงหน้าแล้ว ย่อมจะประทับใจในการบริการมากกว่าที่ต้องมาคอยถามหาโน่น นี่ นั่น กับ Reception ยิ่งถ้าถามมากแล้ว Reception ตอบไม่ได้ หรือไม่มีอารมณ์จะตอบ แทนที่ลูกค้าจะ Check-in ก็จะกลายเป็น Check-Out ไปเลยก็ได้

เห็นไหมละครับว่า Proactive CRM นั้นจะเพิ่มยอดขายห้องพัก สินค้าและบริการให้แก่ว่าที่ลูกค้าของเราได้อย่างไร และทำไมเราต้องให้ความสำคัญในกระบวนการ Proactive CRM เพราะเรายังมีโอกาสในการเพิ่มยอดขายได้มากกว่าการที่เราดำเนินกิจกรรม CRM กับลูกค้าที่ Check-Out ออกไปแล้ว เพราะเขาอาจจะมาพักเพียงแค่ครั้งเดียวในชีวิต

ถ้าเราต้องการเพิ่มยอดขายมากยิ่งขึ้นไปอีก เราก็ต้องพยายามหาทางให้ลูกค้าที่จองห้องพักมาแล้ว แต่ไม่ได้ให้ e-mail มากับทางโรงแรมตอนจองห้องพัก ผมมีเคล็ดลับในการดำเนินการดังนี้ครับ
1. สร้างหน้าเวบไว้ 1 หน้า สำหรับการลงทะเบียนเข้าพักล่วงหน้า โดยมีแบบฟอร์มที่จำเป็นสำหรับการลงทะเบียนเข้าพัก
2. มีสิ่งอำนวยความสะดวกเพิ่มเิติม หรือ Special Request อื่นๆ ที่ทาง Travel Agent หรือ OTAs ไม่มีให้ลูกค้า หรือไม่สามารถยืนยันให้กับลูกค้าได้ เช่น ต้องการห้องสำหรับผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ ห้องพักเตียงใหญ่ ฯลฯ โดยให้ข้อมูลไว้ในเวบไซต์ทางการของโรงแรมว่า Special Request เหล่านี้ Priority to pre-registration guest ถ้าไม่มีการลงทะเบียนเข้าพักล่วงหน้าอาจจะไม่ได้ตามที่ต้องการ

โดยหลักแล้ว เมื่อลูกค้าจองแพคเกจทัวร์ ต่างๆ (ที่เราไม่มี e-mail ของลูกค้า) ลูกค้ามักจะหาข้อมูลของโรงแรม สถานที่เที่ยว และสินค้า และบริการอื่นๆ ที่ตนซื้อมาจากบริษัทนำเที่ยวด้วยตนเองเพิ่มเติมจากเวบไซต์ทางการของผู้ให้บริการโตยตรงเพื่อใช้ในการศึกษาข้อมูลก่อนการเดินทาง และการเข้าพัก (ยกเว้น กรุ๊ปทัวร์ ที่หัวหน้าทัวร์พาไปไหนก็ต้องไป)

การที่เรามีสิทธิประโยชน์พิเศษให้แก่ลูกค้าที่ลงทะเบียนเข้าพักล่วงหน้านั้นย่อมจะเป็นการสร้าง Customer Engagement ก่อนที่ลูกค้าจะได้มาใช้บริการจริง และสามารถเพิ่มยอดขายได้โดยไม่ต้องวิ่งหาแต่ลูกค้ใหม่

ขอแชร์ประสบการณ์บางอย่างคือ ลูกค้าที่จองห้องพักผ่านระบบออนไลน์ของ OTAs ที่มีชื่อเสียงระดับโลก จะมียอดค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในโรงแรมมากกว่าการจองห้องพักผ่าน Travel Agents หรือ OTAs ที่เน้นแต่การขายราคาถูก เพราะอะไรน่ะเหรอครับ เพราะว่า ถ้าจองผ่าน Travel Agents ส่วนใหญ่ Travel Agents จะขายสินค้าและบริการอื่นๆ ใ้ห้กับลูกค้าของตนได้ หรือถ้าจองผ่าน OTAs ที่เน้นขายราคาถูกนั้น ลูกค้ามักจะเดินทางมายังโรงแรมด้วย Taxi จากสนามบิน เพราะหาแต่ของถูก และแล้ว สินค้า และบริการอื่นๆ ก็จะโดน Taxi เหล่านี้คาบไปกินก่อนเข้ามาพักที่โรงแรม

ถ้าท่านไม่เชื่อพฤติกรรมเหล่านี้ ลองให้ Front Office พิมพ์ Statistic ออกมาดูซิครับ ปกติแล้ว PMS ของโรงแรมจะเก็บข้อมูลไว้ดังนี้
 
Room night และ Room Revenue ของ Travel Agents หรือ OTAs ต่างๆ ไว้ ซึ่ง ถ้าหารกันออกมา เราก็จะได้ ARR อย่างที่ทาง Front Office Manager มานั่งลอยหน้าลอยตารายงานอยู่ทุกๆ เช้า แต่ในฐานะของนักการตลาด ถ้าเราเลือกจะขาย หรือจะให้ห้องใครไปขาย เราต้องเอา F&B Revenue และ Other Revenue มารวมกับ Room Revenue ก่อน แล้วเราค่อยหารด้วยจำนวน Room Night แล้วเราจะเห็นได้ว่า Travel Agents และ OTAs แต่ละรายนั้น มีคุณภาพมากน้อยเพียงใด ถ้าคุณภาพมาก เราจะมี Total Revenue ต่อการขาย 1 คืน มากกว่า ARR ที่ได้รับจาก Travel Agents หรือ OTAs ที่เน้นขายราคาถูก อยู่เป็นจำนวนมาก เชื่อไหม บาง Travel Agent ไม่มียอดค่าใช้จ่ายอื่นๆ ของลูกค้าภายในโรงแรมเลย เพราะว่าอะไรน่ะเหรอครับ

"พอลูกค้าขึ้นรถของ Travel Agent ออกจากสนามบิน เข้าสู่โรงแรมที่พัก Guide หรือ Transfer Man ก็จะพยายามบอกว่าสินค้าและบริการในโรงแรมนั้นราคาแพง พยายามอย่าใช้ ถ้าอยากได้อะไรก็ให้บอกตน จะพาไป จะได้ราคาที่ถูกกว่า และพยายามขายสินค้าและบริการต่างๆ ระหว่างเดินทางจากสนามบินสู่โรงแรม"

ไม่เชื่อก็ลองพิมพ์เอาข้อมูลออกมาดูนะครับ แล้วจะเห็นว่าเป็นจริงอย่างที่ผมเล่ามานี้หรือไม่ และถ้าในฐานะที่คุณเป็นนักการตลาด และนักการขาย ห้องพักที่มีอยู่เพียงจำกัดนั้น ท่านจะเพิ่มรายได้สู่โรงแรมได้อย่างไร ไม่ใช่เห็นว่าขายห้องพักได้ ก็หลับหูหลับตาขายไป โดยไม่คำนึงถึงเป้าหมายโดยรวมของธุรกิจ

หวังว่าแนวความคิด Proactive CRM นี้จะเป็นประโยชน์ต่อทุกๆ ท่าน ความคิดเห็นของผู้อ่านทุกท่าน ย่อมเป็นกำลังใจให้ผู้เขียน ในการนำเอาความรู้และประสบการณ์ต่างๆ มาเขียนให้ทุกคนได้อ่านเป็นแนวทางต่อๆ ไปนะครับ ไม่ใช่ว่าแอบเข้ามาอ่านแต่เพียงอย่างเดียว ผู้เขียนก็คงจะคิดว่าเรื่องของตนเองที่นำมาเขียนนั้นไม่น่าสนใจ ก็จะเอาเวลาของตนไปทำอย่างอื่นที่เป็นประโยชน์มากกว่าครับ

ขออภัย ถ้าเนื้อหาของบทความนี้อาจะทำให้ผู้อ่านบางท่านไม่พอใจ หรือไม่สบายใจ

อะไรคือ Hotel Online Marketing


ตอนนี้ธุรกิจโรงแรมในประเทศไทยยังอยู่ในสถานการณ์ Over Supply โรงแรมและรีสอร์ทต่างๆ จึงคิดที่จะหันมาเอาดีทางด้านการขายห้องพักผ่านระบบจองห้องพักทางอินเตอร์เน็ต และแข่งกันตัดราคาจนราคาค่าห้องพักจนปัจจุบัน ค่าห้องพักของโรงแรมบางแห่งถูกกว่าราคาค่าอาหารเช้าสำหรับสองคนของโรงแรมในต่างประเทศ

หลายๆ โรงแรมรับสมัครพนักงานรุ่นใหม่มารับผิดชอบทางด้านการขายห้องพักผ่านระบบอินเทอร์เน็ตเป็นการเฉพาะ คอยติดต่อประสานงานกับ OTAs ต่างๆ ในการบริหารจัดการด้านราคา โปรโมชั่น คอยทำตามคำแนะนำต่างๆ ของ OTAs เพื่อให้โรงแรมของตนสามารถขายแข่งกับโรงแรมอื่นๆ ได้

เมื่อโรงแรมของตนสามารถขายผ่านอินเทอร์เน็ตได้แล้ว ต่างก็ยิ้มย่องอยู่ในใจว่าตนเองนั้นได้โดดเข้าสู่ยุค Online Marketing กับเขาแล้ว เพราะสามารถขายได้แล้ว และคิดว่านั่นคือที่สุดแล้วของการตลาดห้องพักโรงแรมผ่านระบบออนไลน์

พนักงานโรงแรมหลายคนที่มีหน้าที่ในการติดต่อขายห้องพักผ่าน OTAs ต่างๆ นั้น ต่างก็มักจะ Present ตัวเองว่ามีความรู้ทางด้าน Online Marketing แต่ถ้าถามคนเหล่านี้ว่า...
1.   นอกจากจะรู้จัก Web Site ของ OTAs ต่างๆ แล้ว เขารู้จักเวบไซต์อะไรอื่นๆ อีกบ้างที่จะนำมาใช้ในด้านการตลาด
2. เวบไซต์ของโรงแรมเองนั้น มีเนื้อหาประกอบไปด้วยอะไรบ้าง
3. เวบไซต์ของโรงแรม มีการปรับปรุงเพิ่มเิติมเนื้อหาบ่อยแค่ไหน
4. มี Key word อะไรบ้าง ที่ห้ามใช้ เพราะจะทำให้ Search Engine หยุดค้นหาโดยทันทีทันใด
5. เวบไซต์ของโรงแรม นำมาใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง
6. เวบไซต์ของโรงแรม มี Link Popularity มากน้อย เพียงใด
7. ในแต่ละวัน แต่ละสัปดาห์ แต่ละเดือน คนเหล่านี้ควรจะต้องทำอะไรกันบ้าง
8. Rate Parity คืออะไร
9. Conversion Rate คืออะไร
10. อะไรคือ Site Analytics
11. อะไรคือ Social Media Marketing นอกเหนือจากการโพสค์ข้อความและรูปภาพใน Facebook หรือ Twitter
12. การโฆษณาสินค้าและบริการใน Wall ของตนเองและผองเพื่อนใน Facebook คือ Online Marketing จริงหรือ
13. ธุรกิจของคุณอยู่ใน Business Directory มากน้อยเพียงใด
14. โรงแรมของคุณมีแผนการ Article Submission, Web link submission, Search Engine Submission อย่างไรบ้าง
15. Rate Structure ของราคาขายทางอินเตอร์เน็ต อยู่ตรงไหน ขายทางอินเทอร์เน็ตได้แล้ว จะทำให้ขายผ่าน Channel ไหนไม่ได้บ้าง
16. การที่ขายห้องพักผ่านอินเทอร์เน็ต ไม่ได้เป็นเพราะปัจจัยอะไรบ้าง นอกจากราคา
17. การขายห้องพักผ่านอินเทอร์เน็ตได้นั้น มีความยั่งยืนแค่ไหน
18. การขายได้มากในขณะนี้ กับ Positioning ของโรงแรมในเป้าหมายทางธุรกิจระยะยาวต่างกันอย่างไร
19. โรงแรม Chain กับโรงแรมอิสระ มีความแตกต่างกันอย่างไรในด้าน Online Marketing
20. เครื่องมือที่ใช้ในการทำ Online Marketing ของท่านมีอะไรบ้าง และต้องเสียค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง


ลองหาคำตอบดูกันนะครับว่าคนที่บอกว่าทำ Online Marketing ของโรงแรมต่างๆ นั้นมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับคำถามข้างบนอย่างไรกันบ้าง

ที่สำคัญคือ "การตลาด ไม่ใช่แค่การขายได้" อย่างที่เข้าใจกันอยู่ในขณะนี้นะครับ

ใครมีคำตอบดีๆ รับประกันได้ว่าเป็นที่ต้องการของอุตสาหกรรมโรงแรมทั่วโลกในปัจจุบันและในอนาคต ครับ

สำหรับผู้ที่สนใจอยากรู้รายละเอียดในเรื่องใดๆ ข้างต้น เข้ามา Post ข้อความสอบถามกันได้นะครับ หรือติดตามได้ที่ www.ihotel2011.com จะทยอยๆ เขียนมาให้อ่านกันเป็นความรู้ครับ